เมนู Toggle

POPULAR

เผยสาเหตุของ ไฟฟ้ารั่ว และวิธีการป้องก้นเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุ

เผยสาเหตุของ ไฟฟ้ารั่ว และวิธีการป้องก้นเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุ

ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ปัญหาที่เราควรเฝ้าระวังเป็นอันแรกเลยก็คือเรื่องของระบบไฟฟ้า อย่างไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต เพราะเป็นปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตเหมือนหลาย ๆ ข่าวที่เราได้เห็นกันในช่วงที่ผ่านมา

ไฟรั่วคืออะไร ?

ไฟรั่ว คือ การที่กระแสไฟฟ้ารั่วไหลออกจากวงจรไฟฟ้าไปที่ผิวของสายไฟฟ้า หรือโครงโลหะของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สาเหตุการเกิดไฟรั่วมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าเพราะใช้มาเป็นเวลานาน หากสัมผัสโดนอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเช่น เกิดไฟดูดเมื่อเราไปสัมผัสกับสายไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกิดไฟรั่ว ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายและลงสู่พื้นดิน ส่งผลให้หัวในทำงานผิดปกติ ถ้าไฟมีกำลังแรงอาจทำให้หัวใจเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ควรหมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

วิธีรับมือไฟรั่วเมื่อเกิดเหตุในช่วงหน้าฝน

อย่างที่เราได้เห็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน จากการที่ฝนตกหนักและน้ำท่วมทำให้เด็กนักเรียนถูกไฟดูดเนื่องจากเกิดไฟฟ้ารั่วไหล HomeTalks จึงมีวิธีรับมือเมื่อเกิดเหตุในช่วงหน้าฝน มาฝากกันดังนี้…


1.ตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้า

ทำการตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้า เริ่มจากนำบิลค่าไฟเดือนก่อนมาเปรียบเทียบกับมิเตอร์ปัจจุบันว่าตรงกันไหม หรือทำการตรวจสอบโดยปลดเบรคเกอร์หรือคัทเอาท์ลง แล้วตรวจสอบว่ามิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ ถ้ามิเตอร์ยังคงหมุนอยู่ อาจเกิดจากไฟรั่ว หรือไฟฟ้าลัดวงจรลงดิน ควรให้เจ้าหน้าที่ หรือช่างไฟ ตรวจสอบหาสาเหตุต่อไป

2.ติดตั้งระบบไฟฟ้าสายดิน

การติดตั้งระบบไฟฟ้าสายดินที่เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกันไฟรั่วในหน้าฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกระแสไฟฟ้ารั่วมาที่โครงเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมานั้น ก็จะเดินทางลงสู่ดินผ่านทางสายดิน ซึ่งในปัจจุบันทางการไฟฟ้านครหลวงแนะนำให้ติดตั้ง แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง

3.ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว

การไฟฟ้านครหลวงแนะนำให้ติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อเสริมการป้องกันให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เช่น กรณีมีน้ำท่วมขัง หรือกรณีสายดินขาด โดยจุดต่อลงดินต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดไฟรั่วเสมอ

4.ตรวจเช็คสายไฟฟ้า/เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดเสื่อมสภาพ

หากสายไฟและเครื่องใช้ในบ้านของคุณเกิดชำรุด เสื่อมสภาพทั้งภายในและภายนอกบ้าน ควรรีบซ่อมแซมหรือซื้อมาเปลี่ยนใหม่ ยิ่งในช่วงหน้าฝนยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีน้ำท่วมขังในบ้านหรือนอกบ้าน ซึ่งน้ำเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าถ้าหากไฟรั่วอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งที่มีน้ำขังอยู่ คนที่อยู่ในบ้านก็อาจได้รับอันตรายจากเหตุไฟดูด ไฟช็อต และอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

5.ตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้า

ทำการตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้าดูว่ามีรอยแตกร้าวรอยไหม้ หรือมีการชำรุดบ้างหรือไม่ หากเต้ารับหลวมก็ควรขันสกรูให้แน่น ถ้ามีการแตกร้าวหรือพบรอยไหม้ก็ควรเปลี่ยนใหม่ และควรทดสอบเต้ารับทุกจุดว่ามีไฟหรือไม่ โดยใช้ไขควงวัดไฟแตะทดสอบ ไม่ควรใช้มือแตะโดยตรง

6.ไม่ควรสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียก

ข้อสุดท้ายคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือวงจรไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียก หรือยืนอยู่บนที่เปียกน้ำขัง น้ำท่วม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ไฟฟ้า หากจำเป็นต้องสัมผัสให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าปูพื้น เช่น แผ่นไม้แห้ง แผ่นยาง แผ่นพลาสติก ต้องสัมผัสวัสดุที่เป็นฉนวนไฟหรือช่วยเหลือบุคคลที่โดนไฟดูดควรรีบหาแหล่งที่เกิดไฟฟ้ารั่วและหาทางตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อนเข้าช่วยเหลือ หากเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูงควรแจ้งการไฟฟ้าโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ตัดกระแสไฟฟ้า หรือรีบแจ้ง 1669 ให้เร็วที่สุด ไม่ควรประมาทเพราะหากไฟรั่วเกิน 30 มิลลิแอมป์ขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตได้

ก่อน ไขข้อสงสัย ทำไมฝนต้องตกตอนเลิกงานทุกที!
ต่อไป 5 เรื่องเข้าใจผิด หลังคารั่ว